ธุรกิจเครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ จะอยู่หรือไปในยุค SMEs 4.0

4976 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเช่นนี้ แน่นอนว่าธุรกิจประเภทเครื่องดื่มหรือขนมหวาน ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าใคร เพราะถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นสำหรับผู้บริโภค ไม่แปลกนักหากผู้บริโภคจะเลือกตัดรายการประเภทนี้เป็นอันแรกๆในบัญชีรายจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 4.0 ที่ผู้บริโภคเสพข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนเป็นหลัก การเสาะแสวงหาสถานที่นั่งเล่นหรืออยากลองร้านใหม่ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากนัก หรือแม้แต่ร้านกาแฟเดิมที่เคยนั่งก็ย่อมเปลี่ยนใจไปร้านใหม่ได้ทุกเมื่อ เข้าทำนอง “รักง่าย หน่ายเร็ว” เช่นนี้แล้วธุรกิจเครื่องดื่มน้ำชา กาแฟ จะอยู่รอดหรือไม่ในยุค 4.0 ?

ยุค 4.0 ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก พวกเขาไม่ได้เสพน้ำชา กาแฟ ขนมปัง         หรือน้ำผลไม้ เหมือนเมื่อก่อน แต่พวกเขาเสพไอเดียและความเก๋ไก๋ ผู้บริโภคหลายคนไม่ได้เดินเข้าร้านกาแฟเพื่อต้องการดื่มกาแฟจริงๆ  หากสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ SME ย่อมอยู่รอดและไปได้ดีในยุค 4.0  เราจึงขอนำเสนอ 7 เทคนิคดีๆสำหรับคุณเถ้าแก่ทั้งเก่าและใหม่เพื่อการปรับตัวอย่างยั่งยืนในยุค 4.0

1. เน้นตอบโจทย์ผู้บริโภค

ผู้บริโภคแต่ละคนมีเหตุผลในการดื่มกาแฟที่ไม่เหมือนกัน สำหรับคนวัยทำงานต้องการความกระปรี้กระเปร่าหลังอาหารมื้อเที่ยง ความเร่งรีบและความสะดวกคือปัจจัยสำคัญในการเลือกร้าน ร้านกาแฟใกล้ออฟฟิศย่อมตอบโจทย์ของลูกค้าได้ดี  บางคนดื่มกาแฟเพื่อฆ่าเวลา การเปิดร้านกาแฟน่านั่งในร้านคาร์แคร์ เป็นอีกไอเดียที่ไม่เลวนัก บางคนต้องการหาที่นั่งเล่น สังสรรค์กับเพื่อน การตกแต่งร้านที่เก๋ไก๋อาจจะเป็นสถานที่แรกที่ลูกค้าเลือกในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เป็นได้  ดังนั้น SME จึงต้องหาลูกค้าให้เจอว่าคุณเจาะตลาดกลุ่มไหน เพราะลูกค้าแต่ละกลุ่มย่อมส่งผลต่อการเลือกทำเลของร้านที่ไม่เหมือนกัน

2. เลือกทำเลที่เหมาะสม

Vicky Lewis เถ้าแก่ใหม่แห่งรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา บอกเล่าประสบการณ์ในการเลือกทำเลสำหรับร้านกาแฟใน CNN Money ว่า เธอใช้เวลาหลายวันในการขับรถทั่วทั้งรัฐ เพื่อศึกษาจำนวนประชากร พฤติกรรมการสัญจรของผู้บริโภค ก่อนจะแวะชิมร้านกาแฟของแต่ละย่านที่เธอผ่าน ก่อนจะตัดสินใจเลือกเมืองออสตินในการเปิดร้าน เพราะเป็นย่านที่ผู้คนสัญจรมากและไม่มีร้านกาแฟที่ตกแต่งสวยงามน่าดึงดูดเลยในย่านนั้น ผลก็คือเธอสร้างรายได้กว่า 200,000 ดอลลาร์ในปีแรก ดังนั้นการเลือกทำเลที่ตั้งจึงเป็นหัวใจสำคัญของร้านกาแฟ

 3. ตกแต่งร้านให้สวยงาม

หากเจาะลูกค้าวัยทำงานในชั่วโมงเร่งด่วน การตกแต่งร้านย่อมไม่มีผลต่อการเลือกร้าน แต่สำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการมองหาร้านน่านั่งเพื่อนัดพบหรือสังสรรค์กับเพื่อนในวันหยุด การตกแต่งและบรรยากาศภายในร้านย่อมมีผลแน่นอน การทำป้ายหน้าร้านที่ชัดเจน มีระเบียงรับลมเย็นนอกร้าน สวนหย่อมเล็กๆ หรือมีมุมสวยๆสำหรับเซลฟี่ ก็อาจเป็นการช่วยโปรโมทร้านอีกทางหนึ่งด้วยเพราะลูกค้าไม่ได้ซื้อแค่กาแฟ

 4. เมนูที่หลากหลาย

ลูกค้ากลุ่มนักศึกษาเป็นอีกตลาดที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งเมื่อใกล้สอบด้วยแล้ว ความกระปรี้กระเปร่าคือสิ่งจำเป็นในการอ่านหนังสือ  บางทีการเพิ่มเมนูใหม่ก็อาจจะช่วยขยายฐานลูกค้าได้ คุณวิเชียร วงษ์สุรไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ แฮปปี้กิฟ จึงได้นำเสนอเมนูใหม่คือกาแฟผสมน้ำผลไม้ กาแฟช่วยแก้ง่วงและน้ำผลไม้ทำให้สดชื่น เป็นอีกทางเลือกเพื่อทดแทนเครื่องดื่มชูกำลังที่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย และเหมาะกับนักศึกษาที่ไม่ชอบดื่มกาแฟที่รสชาติเข้มจนเกินไปด้วย

5. โฆษณาเพื่อสร้างความดึงดูด

การโปรโมทร้านเป็นสิ่งจำเป็นมาก ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและผู้บริโภคมีทางเลือกมาก การดึงดูดให้ลูกค้าอยู่เราย่อมเป็นเรื่องยากมาก การโปรโมทร้านโดยใช้คำพูดหรือรูปภาพอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป Guy Kawasaki นักการตลาดชื่อดังของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ธุรกิจยุคใหม่โฆษณาโดยใช้คลิปวีดีโอ โดยคลิปไม่ควรมีความยาวเกิน 30 วินาที ดังนั้นคลิปจึงไม่ควรมีมากกว่า 1 คอนเซ็ปต์ แต่ 5 วินาทีแรกถือเป็นคีย์สำคัญที่จะตัดสินว่าผู้บริโภคจะดูต่อจนจบหรือไม่

6. มีความเป็นมืออาชีพ

การแต่งกายของพนักงานก็มีผลต่อการเลือกร้านของผู้บริโภคเช่นกัน การใส่ผ้าคลุมผมเพื่อป้องกันเส้นผมร่วงหล่น การเตรียมความพร้อมของวัตถุดิบเพื่อไม่ให้ลูกค้ารอนานจนเกินไป โดยเฉพาะร้านที่มีน้ำผลไม้ พนักงานต้องใส่ถุงมือขณะปลอกผลไม้ ผลไม้ต้องเก็บเป็นอย่างดีเพราะมีอายุสั้น การเลือกผลไม้ที่สดใหม่อยู่เสมอย่อมเป็นสิ่งสำคัญ การประหยัดเพียงเล็กน้อยอาจจะเสียลูกค้าตลอดไปเลยก็เป็นได้

7. ขายสินค้ามากกว่า 1 อย่าง

หากเปิดร้านเครื่องดื่มเพื่อขายเครื่องดื่ม ย่อมจะสำเร็จได้ยากในยุค 4.0 เพราะผู้บริโภคไม่ได้เข้าร้านกาแฟเพื่อดื่มกาแฟเพียงอย่างเดียว การมีอินเตอร์เน็ตและเก้าอี้ที่นั่งสบาย กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจเครื่องดื่มไปเสียแล้ว อย่างเช่น Kurt Dyrli เถ้าแก่ใหม่แห่งรัฐเทนเนสซี เลือกเปิดร้านกาแฟในห้องสมุด เขาไม่ได้ขายกาแฟให้กับผู้เข้าห้องสมุด แต่ขายบรรยากาศในการอ่านหนังสือ และที่นั่งสบายๆสำหรับการทำงานกลุ่มของนักศึกษา แน่นอนว่าบรรยากาศเช่นนี้จะแลกด้วยกาแฟสักแก้ว ลูกค้าก็ยินดีที่จะจ่าย

SME จะรอดหรือไม่ในยุค 4.0 คำตอบจึงอยู่ที่ไอเดีย ไม่ใช่สินค้า การขายไอเดียความเก๋ไก๋ จึงเป็นเสน่ห์สำคัญในการดึงดูดลูกค้า  เริ่มต้นกันเลย “Set yourself up for success” ขายไอเดียของคุณและหาวิธีสื่อกับลูกค้าว่าไอเดียของคุณนั้นเจ๋งขนาดไหน

 
ขอบคุณบทความจาก : วิญญู วีระนันทาเวทย์
ที่มา :  taokaemai.com 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้